สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
รู้จัก พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น เราไม่ทิ้งกัน
 

รู้จัก พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน"

 
 


5 คำถามที่มีคำตอบ: น่าลงทุนไหม? ดอกเบี้ยเท่าไร? มีความเสี่ยงหรือไม่? เหมาะสมกับใคร? ซื้อที่ไหน?

 
กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อกู้ยืมเงินในวงเงินไม่เกิน 50,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินไปบรรเทาผลกระทบ และแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตามมี 5 คำถามที่หลายคนยังสงสัยและอยากรู้ก็คือว่า พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร แล้วในข่าวระบุว่าเป็นแบบไร้ตราสาร (Scripless) หมายความว่าอย่างไร ผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากไหน ได้ผลตอบแทนเท่าไร เทียบกับผลตอบแทนในปัจจุบันน่าลงทุนหรือไม่ นอกจากนั้นหลายครั้งที่เคยได้ยินเขาพูดกันเสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แล้วถ้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะเสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยง เสี่ยงอย่างไร จากคำตอบของ 3 คำถามข้างต้นคนที่มีเงินออมมีเงินลงทุนบางคนก็เลยอยากได้ข้อสรุปฟันธงว่า ตนเองควรไปซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” หรือไม่ สำหรับคนที่หาคำตอบจากคำถามข้างต้นแล้วฟันธงให้กับตัวเองได้แล้วว่าพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" เหมาะสมกับการลงทุนของตนเอง คำถามคาใจข้อสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นว่าจะไปซื้อที่ไหน ซื้ออย่างไร มีขั้นต่ำขั้นสูงของการซื้อขายหรือไม่   

คำถามแรกที่เราจะหาคำตอบกันก็คือว่า พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ที่กระทรวงการคลังออกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) มีลักษณะเป็นอย่างไร
ถ้าอธิบายง่ายๆตามตัวอักษร พันธบัตรรัฐบาลก็คือบัตรซึ่งก็คือเอกสารหรือสัญญานั่นเอง โดยเป็นสัญญาที่รัฐบาลออกให้เพื่อเป็นหลักฐานว่ารัฐบาลเป็นลูกหนี้ซึ่งได้ทำการขอกู้ยืมเงิน โดยมีพันธะหรือข้อตกลงว่าในอนาคตรัฐบาลจะชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และจะชำระคืนเงินต้น ณ วันครบกำหนดไถ่ถอนที่ระบุไว้ในบัตรหรือสัญญานั้นๆ
ทั้งนี้พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือถ้าออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้นั้น อาจแบ่งเป็นแบบมีใบตราสาร (Scrip) และไม่มีใบตราสาร (Scripless) แบบมีใบตราสารจะเป็นการกู้ยืมแบบที่มีสัญญาเขียนเป็นกระดาษทางกายภาพให้ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งการดำเนินการจะมีขั้นตอนยุ่งยากเสียเวลาดำเนินการมาก ต่อมาเมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็เลยพัฒนาเพิ่มขึ้นมาเป็นแบบไม่มีใบตราสารซึ่งจะไม่มีสัญญาเป็นกระดาษที่จับต้องได้เป็นหลักฐาน แต่จะใช้วิธีการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็อาจเปรียบเทียบได้กับการฝากเงินในสมัยก่อนต้องไปเปิดบัญชีโดยมีสมุดบัญชีที่สาขา แต่ในปัจจุบันการฝากเงินก็อาจใช้วิธีการเปิดบัญชีออนไลน์ที่ไม่มีสมุดบัญชีแต่สามารถตรวจสอบยอดเงินและธุรกรรมต่างๆได้ทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ผู้ซื้อพันบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ยังไม่เคยซื้อพันธบัตรมาก่อน เป็นผู้ซื้อรายใหม่ จะไม่ได้รับใบตราสารแต่จะได้รับเป็นสมุดพันธบัตรฯ (Bond Book) ในวันที่ซื้อหรืออาจได้รับภายหลังไม่เกิน 15 วันทำการจากธนาคารผู้จัดจำหน่าย ส่วนผู้ซื้อที่มีสมุดพันธบัตรแล้วสามารถปรับปรุงข้อมูลการซื้อหลังวันทำรายการซื้อ 15 วันทำการ

คำถามถัดมาก็คือว่า ถ้าไปซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” แล้วจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบไหน ได้ผลตอบแทนเท่าไร เทียบกับผลตอบแทนในปัจจุบันน่าลงทุนหรือไม่
ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ก็เหมือนกับเวลาเราให้คนยืมเงิน ระหว่างที่ยังไม่ได้คืนเงินต้น ก็จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่ตกลงกันไว้ ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน และเมื่อครบกำหนดการกู้ยืม หรือที่เรียกกันว่าครบกำหนดไถ่ถอนก็จะรับได้เงินต้นคืน
พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราขั้นบันได ปีแรกๆอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปีต่อๆไป อัตราดอกเบี้ยค่อยๆเพิ่มขึ้น รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยจ่ายแบบขั้นบันไดดังนี้ ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.00 ต่อปี ปีที่ 2 - 3 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.25 ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.50 ต่อปี ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 2.40 ต่อปี) ในขณะที่รุ่นอายุ 10ปี อัตราดอกเบี้ยจ่ายแบบขั้นบันได ปีที่ 1 – 3 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.50 ต่อปี ปีที่ 4 – 8 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี ปีที่ 9 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.50 ต่อปี ปีที่ 10 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4.00 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี)



ถ้าจะถามว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น"เราไม่ทิ้งกัน" น่าสนใจที่จะลงทุนหรือไม่ หลายคนก็คงอยากให้นำไปเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาต่ำสุด - สูงสุดของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทย เป็นดังนี้ เงินฝากออมทรัพย์: ต่ำสุด 0.05% สูงสุด 2.00% เงินฝากประจำ 3 เดือน ต่ำสุด 0. 10% สูงสุด 1.40% เงินฝากประจำ 6 เดือน ต่ำสุด 0. 10% สูงสุด 1.40%เงินฝากประจำ 12 เดือน ต่ำสุด 0. 10% สูงสุด 1.70% เงินฝากประจำ 24 เดือน ต่ำสุด 0. 10% สูงสุด 1.70% อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์อาจเปรียบเสมือนการเอาส้มไปเปรียบเทียบแอ๊ปเปิ้ล เนื่องจากผู้กู้หรือลูกหนี้ก็มีความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน ในขณะที่ระยะเวลาในการออมในการลงทุนก็ไม่เท่ากัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบบนฐานเดียวกัน จึงอาจต้องนำอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่นๆที่มีอายุคงเหลือเท่ากันที่มีการซื้อขายในตลาดทางการเงิน ทั้งนี้จากข้อมูลเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 จะพบว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 5 ปี และ 10 ปี เท่ากับ 0.86% ต่อปี และ 1.14% ต่อปี ตามลำดับ อาจกล่าวสรุปได้ง่ายๆว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" คิดเป็นประมาณ 3 เท่าของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอื่นๆที่มีอายุคงเหลือเท่ากัน



การจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" จะจ่ายปีละ 2 งวด ได้แก่ วันที่ 14 พฤศจิกายนและวันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 จนถึงงวดสุดท้าย ณ วันครบอายุไถ่ถอน 14 พฤษภาคม 2568 สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี และ 14 พฤษภาคม 2573 สำหรับรุ่นอายุ 10 ปี ทั้งนี้ ณ วันครบอายุไถ่ถอน นอกจากผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยงวดสุดท้าย ก็ยังจะได้รับเงินต้นที่ลงทุนไปคืนอีกด้วย

คำถามที่ 3 หลายคนก็อาจอยากรู้ต่อว่าแล้วการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะเสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยง เสี่ยงอย่างไร ทั้งนี้เมื่อไรก็ตามที่เราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ก็เปรียบเสมือนกับเราเป็นเจ้าหนี้เอาเงินออมเงินลงทุนที่มีอยู่ไปให้คนอื่นกู้ยืม เราก็คงต้องทำใจว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ลูกหนี้หรือผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ไม่จ่ายดอกเบี้ย และ/หรือเงินต้น เต็มตามจำนวนและระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ความเสี่ยงดังกล่าวนี้เรียกว่าความเสี่ยงทางเครดิต อย่างไรก็ตามเนื่องจากพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ผู้ออกเป็นรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ (แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีเลย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีเหตุการณ์ปรากฏว่า รัฐบาลของบางประเทศก็มีการผิดนัดชำระหนี้เช่นกัน)
นอกจากความเสี่ยงทางเครดิตแล้ว ผู้ลงทุนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" มีการกำหนดเป็นขั้นบันไดคงที่ไว้แล้วในสัญญา นั่นหมายความว่าไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ผู้ลงทุนก็จะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ก็จะได้รับดอกเบี้ยเท่าที่ระบุไว้ในสัญญา ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็อาจต้องขายต่อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ในราคาที่ต่ำกว่าที่เคยคาดหวังว่าจะขายต่อได้ ความเสี่ยงดังกล่าวนี้อาจเรียกเฉพาะเจาะจงลงไปว่า ความเสี่ยงด้านราคา อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดก็ยังอาจส่งผลต่อความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ นั่นหมายความว่าในทางตรงกันข้าม ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ก็จะสามารถนำดอกเบี้ยไปฝากหรือไปลงทุนต่อโดยได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ซึ่งอาจเรียกความเสี่ยงดังกล่าวนี้เฉพาะเจาะจงว่า ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ
การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็ยังอาจมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนเมื่อได้รับดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนแล้วนำไปใช้ซื้อสินค้า/บริการได้น้อยลง อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ลงทุนอาจต้องแบกรับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องซึ่งไม่สามารถขายต่อพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนได้ในราคาที่ควรจะเป็น เนื่องจากในขณะนั้นอาจไม่มีผู้ที่สนใจมาลงทุน
เมื่อเข้าใจลักษณะ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" คำถามที่ตามมา ก็คงหนีไม่พ้นว่า แล้วพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" นี้จะเหมาะสมสำหรับใครบ้าง ทั้งนี้ผู้ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก็อาจได้แก่ ผู้ลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยของเงินลงทุน เนื่องจากผู้ออกหรือผู้กู้ในกรณีนี้เป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นองค์กรที่กล่าวได้ว่ามีความน่าเชื่อถือสูงสุดในการกู้ยืมภายในประเทศ นอกจากนั้นก็ยังอาจเหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการแหล่งรายได้ประจำ เนื่องจากจะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาตามเวลาที่ระบุตลอดอายุของการลงทุน รวมทั้งยังมีความเหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นสามัญ ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ หรือทางเลือกการลงทุนอื่นๆ รวมทั้งเหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากมีอายุการลงทุน 5 ปี หรือ 10 ปี แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็มีความสามารถในการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง

คำถามคาใจข้อสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นช่องทางการจำหน่ายว่าจะไปซื้อที่ไหน ซื้ออย่างไร มีขั้นต่ำขั้นสูงของการซื้อขายหรือไม่ ทั้งนี้ช่องทางการจำหน่ายอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่องทาง BOND DIRECT Application ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งจะต้องทำการชำระเงินผ่าน Mobile Application และ เคาน์เตอร์ ธ.กรุงไทย ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องมีบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย อีกช่องทางหนึ่งก็คือ ATM / Internet Banking / Mobile Application / Counter ของธนาคารพาณิชย์ตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ทั้งนี้การซื้อผ่าน ATM / Internet Banking / Mobile Application ผู้ซื้อต้องติดต่อสาขาเพื่อขอลงทะเบียนพันธบัตรก่อน ยกเว้นกรณีที่เคยลงทะเบียนพันธบัตรแล้ว
วันที่จำหน่ายจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 14 ถึง 20 พฤษภาคม 2563 โดยมีวงเงินจำหน่าย 50,000 ล้านบาท ซึ่งผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยกำหนดวงเงินซื้อต่อราย/รวมทุกรุ่น/ต่อธนาคาร (ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ) ขั้นต่ำ 1,000 บาท และขั้นสูง 2,000,000 บาท ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 ถึง 27 พฤษภาคม 2563 โดยมีวงเงินจำหน่ายที่เหลือจากช่วงที่ 1 ซึ่งผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยกำหนดวงเงินซื้อต่อราย/รวมทุกรุ่น/ต่อธนาคาร (ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ) ขั้นต่ำ 1,000 บาท และขั้นสูง 2,000,000 บาท ส่วนช่วงสุดท้าย ช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 10 มิถุนายน 2563 โดยมีวงเงินจำหน่ายที่เหลือจากช่วงที่ 2 ซึ่งผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ได้แก่ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรโดยกำหนดวงเงินซื้อต่อราย/รวมทุกรุ่น/ต่อธนาคาร (ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ) ขั้นต่ำ 1,000 บาท แต่ไม่จำกัดขั้นสูง


www.thaipfa.co.th

ติดตามข่าวสารและเนื้อหาสาระต่างๆ https://www.facebook.com/ThaipfaThaiProfessionalFinanceAcademy

ฝากกดติดตามเพื่อให้กำลังใจทีมงานด้วยนะครับ ขอบคุณครับ​

 
 

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA