สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
การจัดการความเสี่ยงภัย 101
 

การจัดการความเสี่ยง

การจัดการความเสี่ยงภัย

เริ่มต้นมาทำความเข้าใจว่า ความเสี่ยงภัย ภัย สภาวะส่งเสริมภัย และความสูญเสีย หมายถึงอะไร แตกต่างกันอย่างไร

ความเสี่ยงภัย (Risk) คือ

โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวัง ซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียหรือความเสียหายทั้งแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ส่วนภัย (Peril) นั้น คือสาเหตุของความสูญเสียนั้นๆ เช่น ภัยจากไฟไหม้ น้ำท่วม อุบัติเหตุ เป็นต้น ในขณะที่สภาวะส่งเสริมภัย (Hazard) เป็นเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ความเสียหายจากภัยมีความรุนแรงมากขึ้น และสุดท้าย ความสูญเสีย (Loss) เป็นผลลัพธ์ของภัยที่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้นั่นเอง

ความเสี่ยงภัยมีหลายประเภท

ถ้าหากแบ่งตามลักษณะการวัดค่าอาจแบ่งเป็นความเสี่ยงที่ประเมินเป็นตัวเงินได้หรือไม่ได้ ถ้าหากแบ่งตามปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอาจแบ่งเป็นความเสี่ยงผันแปรหรือคงที่ ถ้าหากแบ่งตามผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจแบ่งเป็นความเสี่ยงภัยต่อส่วนรวมหรือจำเพาะ และถ้าหากแบ่งตามผลลัพธ์อาจแบ่งเป็นความเสี่ยงเพื่อเก็งกำไรหรือความเสี่ยงที่แท้จริง ทั้งนี้ความเสี่ยงภัยที่แท้จริง (Pure Risk) เป็นความเสี่ยงที่มีผลเสียอย่างเดียวโดยไม่อาจมีผลกำไร โดยจำแนกได้เป็น ความเสี่ยงภัยส่วนบุคคล ความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน ความเสี่ยงภัยตามความรับผิด และความเสี่ยงจากความผิดพลาดของผู้อื่น โดยความเสี่ยงเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่มนุษย์เราจำเป็นต้องบริหารจัดการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลักการบริหารความเสี่ยงที่ดี บุคคลต้องไม่ยอมรับความเสี่ยงโดยไม่มีมาตรการรับมือ ต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน และจะใช้วิธีจัดการที่มีต้นทุนเหมาะสมกับความคุ้มครองที่จะได้รับ

ทั้งนี้วิธีการจัดการความเสี่ยงภัยนั้น เราสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1.การควบคุมความเสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือลดโอกาสเกิดและความรุนแรงของความเสียหาย
2.การจัดหาเงินเพื่อจัดการความเสี่ยงภัย เช่น การรับความเสี่ยงภัยไว้เอง หรือการโอนความเสี่ยงภัยไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบ เช่น การทำประกันภัย
การตัดสินใจเลือกวิธีจัดการความเสี่ยงภัย บุคคลควรพิจารณาถึงความรุนแรงของความเสียหาย และโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้น ถ้าผลเสียหายรุนแรงและมีโอกาสเกิดสูง ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือควบคุมความเสี่ยงให้มากที่สุด ถ้ารุนแรงแต่มีโอกาสเกิดน้อย การประกันภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าไม่รุนแรงและมีโอกาสเกิดน้อย การรับความเสี่ยงไว้เองน่าจะเพียงพอ สิ่งสำคัญคือการประเมินอย่างรอบด้านเพื่อเลือกวิธีจัดการที่ดีที่สุด

กระบวนการจัดการความเสี่ยงภัยโดยรวมจะเริ่มจาก

1.การกำหนดวัตถุประสงค์
2.รวบรวมข้อมูล
3.ประเมินความเสี่ยงและเลือกวิธีจัดการ
4.จัดทำแผน
5.นำแผนไปปฏิบัติ
6.ติดตามผลเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

นี่คือภาพรวมของแนวคิดการจัดการความเสี่ยงภัยที่ทุกคนควรมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ในรายละเอียดของหลักสูตรครับ แล้วพบกันใหม่ในชั้นเรียนครับ

ข้อมูลจาก www.thaipfa.co.th

#ThaiPFA #การเงิน #นักวางแผนการเงิน #CFP #นักวางแผนการเงินCFP #วางแผนการเงิน #ที่ปรึกษาการเงิน #Sharing #ThaiPFAsharing #ศูนย์อบรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่จัดอบรมและพัฒนาหลักสูตรนักวางแผนการเงินCFP

 

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA