สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน สรุปง่ายๆ 2 แนวทางเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายที่รัฐช่วยคนทั่วไปให้อยู่รอดในช่วงวิกฤต COVID-19
 
การเยียวยาโควิค


คงต้องยอมรับกันว่า ไวรัส COVID-19 ได้สร้างผลกระทบในเชิงลบกับคนทุกประเทศ ทุกอาชีพ ทุกชนชั้นอย่างกว้างขวาง บางคนที่ยังมีงานทำและบางคนที่เคยมีการวางแผนการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีการวางแผนสภาพคล่องให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติ 3 - 6 เดือน อาจมีความสบายใจเกี่ยวกับอนาคตอยู่บ้าง แต่ก็ยังโชคดีที่สามารถมีเงินจับจ่ายใช้สอยได้ใกล้เคียงกับช่วงปกติที่ผ่านมา แต่สำหรับบางคนที่อาจยังมีงานทำแต่ถูกลดเงินเดือน บางคนที่ยังมีงานทำแค่ในนาม เพราะถูกบริษัทผู้ว่าจ้างให้ Leave without Pay เนื่องจากไม่มีรายได้เพียงพอมาจ่ายเงินเดือน รวมถึงบางคนที่ต้องออกจากงาน หรือขาดรายได้จากการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระหรือ Freelance และไม่เคยวางแผนสภาพคล่อง ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ในยามฉุกเฉินอย่างเช่นทุกวันนี้ อาจต้องหาตัวช่วยอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้มาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อวิกฤต COVID-19 หายไป เราค่อยมาตั้งต้นกันใหม่ ฟ้าหลังฝนจะงดงามเสมอครับ แต่ในช่วงที่ลมฝนมรสุมกำลังผ่านเข้ามาในชีวิตช่วงนี้ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งอาจจะเป็นอีกตัวช่วยที่ต่อลมหายใจให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่รอดจนพ้นวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตามหลายคนอาจฟังแล้วยังไม่เห็นภาพว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยคนทั่วๆไปให้อยู่รอดต่อไปได้อย่างไร ผมจึงขอสรุปมาตรการทั้ง 2 ระยะเป็น 2 หมวดหมู่เพื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าจะช่วยทำให้เรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมีรายจ่ายที่ลดลงจนอยู่รอดพ้นจากวิกฤต COVID-19 ได้อย่างไร


ปกติคนทั่วไปอาจมีรายได้มาจากการทำงานและการลงทุน อย่างไรก็ตามท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลทำให้มีการ LockDown ปิดเมือง เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลทำให้หลายๆคนอาจขาดรายได้จากจ้างงาน ในขณะที่รายได้จากการลงทุนก็ยังหดหายอันเนื่องมาจากการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยจนแทบจะเป็นศูนย์ ในขณะที่ตลาดหุ้นดำดิ่งตามมาด้วยภาวะการตื่นตระหนกที่ลามไปสู่ตลาดตราสารหนี้ ภาวะที่ไม่ปกติยามนี้ ภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อหยิบยื่นกระแสเงินสดส่งตรงให้เข้าถึงมือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก มาตรการอัดฉีดรายได้ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่จะมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวทำให้หลายๆคนอยู่รอดมีเงินกินมีเงินใช้จนผ่านมรสุมลูกโตนี้ไปได้ มีตั้งแต่เงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน เงินคืนประกันการใช้ไฟฟ้าและประปา และแหล่งเงินทุนจากสินเชื่อฉุกเฉินต่างๆ ที่พอจะทำให้มีเงินสดเพียงพอในการดำรงชีวิตให้ผ่านช่วงวิกฤต COVID-19



เริ่มต้น เราลองมาดูรายละเอียดของเงินเยียวยา 5,000 บาทกันก่อนนะครับ มาตรการดังกล่าวนี้จะมอบคนช่วยเหลือให้กับบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ (1) เป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (2) เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ และ (3) เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  เช่น สถานประกอบการถูกปิด ถูกเลิกจ้าง โดนลดเงินเดือน โดนลดเวลาทำงานทำให้รายได้ลดลง ใครที่ตามที่มีคุณสมบัติครบดังกล่าวนี้สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาเพื่อรับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึง เดือนมิถุนายน 2563 ผ่านบริการพร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือโอนเข้าบัญชีธนาคาร อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้สมัครลงทะเบียนแล้วมากกว่า 20 ล้านคน ผมก็เลยไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าได้ฟรีเอาไว้ก่อน จะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้ก็ไปลงทะเบียนไว้ก่อน เพราะการลงทะเบียนทั้งๆที่ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย และที่สำคัญการกระทำดังกล่าวก็อาจส่งผลทำให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเงินสนับสนุนดังกล่าว



 


มาตรการถัดมาที่อาจพอทำให้เรามีเงินสดเข้ามาจับจ่ายใช้สอยได้ก็คือเงินคืนจากค่าประกันการใช้ไฟฟ้าและประปา ทั้งนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถดำเนินการขอคืนค่าประกันสำหรับกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ทำการลงทะเบียนรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนได้ที่ เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง www.mea.or.th ซึ่งสามารถทำการลงทะเบียนออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดปิดการลงทะเบียน ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดอื่นทำการลงทะเบียนรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนได้ที่ เว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค www.pea.co.th ส่วนการขอคืนค่าประกันการใช้น้ำ ผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ทำการลงทะเบียนรับเงินประกันการใช้น้ำคืนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ application MWAonMobile หรือ www.mwa.co.th หรือติดต่อขอรับเงินคืนที่สำนักงานประปาสาขาของ กปน. ทั้ง 18 สาขา ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยในจังหวัดอื่นทำการลงทะเบียนรับเงินประกันการใช้น้ำประปาคืนได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยทำการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินประกันคืนตามช่องทางดังนี้ (1)เว็บไซต์ของ กปภ. www.pwa.co.th (2) แอปพลิเคชัน PWA1662 และ (3) Line Official @PWAThailand ทั้งนี้หลังจากการตรวจสอบสิทธิแล้วสามารถเลือกรับเงินคืนได้ตามช่องทางดังนี้ (1) บัญชีพร้อมเพย์ (2) บัญชีธนาคาร และ (3) Counter Service



 

แหล่งรายได้สุดท้ายที่ภาครัฐจะอัดฉีดเข้ามาให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 ก็จะเป็นรายได้จากการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สินเชื่อพิเศษที่มีหลักประกันสำหรับประชาชนที่มีรายได้ประจำผ่านธนาคารออมสิน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสำนักงานธนานุเคราะห์ แหล่งเงินทุนจากสินเชื่อดังกล่าวก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ 

  • สินเชื่อฉุกเฉินไม่มีหลักประกันผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะกำหนดวงเงินกู้ยืมต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน (หรือคิดง่ายก็คือดอกเบี้ย 10 บาทต่อเดือนต่อการกู้ยืมเงินต้น 10,000 บาท) ทั้งนี้กำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้ธนาคารออมสินได้กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี เมื่อสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้งวดสุดท้าย ผู้สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายละเอียดเบื้องต้นจากการสอบถาม Call Center พบว่าคุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นผู้กู้รายเดิม หรือเป็นเกษตรกร หรือลูกหลานของเกษตรกร และมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ โดยทำกรลงทะเบียนผ่าน line ของธกส. @BAAC Family ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563

  • สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติมที่มีหลักประกันสำหรับประชาชนที่มีรายได้ประจำผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งมีการกำหนดวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีรายได้ประจำแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี เมื่อสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้งวดสุดท้าย และต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน การติดต่อขอสินเชื่อจะทำผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563  

  • สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสำนักงานธนานุเคราะห์หรือโรงรับจำนำของรัฐ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 2 ปี
    นอกเหนือไปจากมาตรการที่ภาครัฐจะอัดฉัดเงินเข้าสู่กระเป๋าของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ภาครัฐทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังได้มีมาตรการที่จะช่วยลดหรือเลื่อนระยะเวลาการชำระรายจ่ายต่างๆ ทั้งรายจ่ายคงที่ เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และรายจ่ายผันแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าไฟฟ้าน้ำประปา และภาระหนี้สินต่างๆ 




    ปกติลูกจ้างพนักงานมนุษย์เงินเดือนจะถูกกำหนดให้หักเงินเดือนสมทบกองทุนประกันสังคมกันเดือนละ5% ของเงินเดือน ซึ่งกำหนดฐานเงินเดือนเอาไว้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ตามมาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะลดรายจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างลงเหลือ 1% เป็นระยะเวลา 3 เดือนและยังให้เลื่อนเวลาจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมออกไปอีก 3 เดือน ทั้งนี้เงินสมทบของเดือนมีนาคม เมษายน และ พฤษภาคม 2563 ก็ให้ขยายเวลาส่งเงินสมทบเป็นภายใน วันที่ 15 ของเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2563 ตามลำดับ



     

    นอกจากการขยายเวลาจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแล้วก็ยังมีการให้เลื่อนระยะเวลาการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 อีกด้วย

    นอกจากนั้นรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาก็จะลดลงในอัตรา 3%เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ภายใต้มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แต่ถ้าเรายิ่งลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้รายจ่ายค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปาลดลงมากยิ่งขึ้นและยังเป็นการช่วยกันแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะตาม COVID-19 มาติดๆอีกด้วย



     

    สำหรับใครที่เป็นลูกหนี้ก็อาจจะมีเฮได้เบาๆ เพราะมีการออกมาตรการต่างๆจากภาครัฐเพื่อช่วยลดหรือเลื่อนรายจ่ายเกี่ยวกับภาระหนี้สินต่างๆ ของบุคคลธรรมดาที่เป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่งวดชำระวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไปดังนิ้

      • บัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan) ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 2563-2564 และในปี 2565 ปรับมาอยู่ที่ 8% และปรับขึ้นมาสู่ระดับ 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยลดลงได้ 

      • สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นให้เลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน

      • สินเชื่อเช่าซื้อ สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท รวมถึง ลีสซิ่ง (Leasing) ที่มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินเลือกระหว่าง การเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน

      • สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย

  • เบื้องต้นใครที่เป็นลูกหนี้ก็อาจทำการติดต่อกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้คุณโดยตรง หรือศึกษารายละเอียดเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขึ้น Link URL ให้ข้างล่างจอได้เลยครับ https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Pages/FI_Support.aspx อย่างไรก็ตามการลดรายจ่ายดังกล่าวนี้สุดท้ายเมื่อยืมเขามาแล้วก็ต้องไม่ลืมที่ชำระคืนด้วยนะครับ

    มีคนเคยบอกเอาไว้ว่าเมื่อไรก็ตามที่ประตูบานหนึ่งถูกปิดลง ก็มักมีประตูอีกบานหนึ่งเปิดขึ้นเสมอ ปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอครับ กลางคืนที่มืดมิดมักตามมาด้วยความสว่างในวันถัดไปเสมอ เช่นเดียวกับหลังมรสุมลมฝนที่กระหน่ำท้องฟ้าก็มักจะสดใสสว่างตามมา ขอเพียงแค่เรามีความอดทนที่จะต่อสู้กับอุปสรรคที่เข้ามา ชัยขนะจะรอคอยคนที่สู้อย่างไม่ท้อถอยเสมอครับ เรามาร่วมเป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อก้าวผ่านวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกันนะครับ
     

ขอบคุณบทความดีดีจาก ผศ.ดร. ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล CFP®
ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ
กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA