สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
มาทำความรู้จักกับนักการวางแผนการเงิน CFP
 

นักวางแผนการเงิน CFP

การวางแผนการเงิน คืออะไร

การวางแผนการเงินไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การออมเงิน หรือการกำหนดกลยุทธ์สำหรับการลงทุนเท่านั้น การวางแผนการเงิน คือ กระบวนการในการจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมเพื่อทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตตามลำดับความสำคัญที่ต้องการได้
 
เป้าหมายสำคัญต่างๆ ในชีวิต ได้แก่ การซื้อบ้าน การสมรส ทุนการศึกษาบุตร การจัดการความเสี่ยงสำหรับตนเองและครอบครัว การเกษียณอายุ การลงทุน การวางแผนมรดก การวางแผนภาษี รวมถึงการมีเงินลงทุนเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ เป็นต้น
 

ประโยชน์ของการวางแผนการเงิน

การวางแผนการเงินช่วยให้คุณสามารถกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงิน การพิจารณาตัดสินใจเรื่องการเงินในแต่ละเรื่องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายชีวิตจะช่วยให้คุณทราบถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่อาจส่งผลต่อเป้าหมายชีวิต ดังนั้น  คุณจึงสามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตให้เข้ากับสถานกาณ์ส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงไป และช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตตามที่ต้องการได้
 

นักวางแผนการเงิน CFP คือใคร

นักวางแผนการเงินสามารถให้คำแนะนำว่าคุณต้องทำสิ่งใดบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการ โดยใช้กระบวนการวางแผนการเงิน เพื่อวิเคราะห์ภาพรวมสถานะทางการเงินของคุณและให้คำแนะนำกุลยุทธ์การวางแผนการเงินแบบองค์รวมที่เหมาะสมกับคุณ ซึ่งได้แก่ การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การออมเงิน ภาษี การลงทุน การประกันชีวิต และการเกษียณอายุ ทั้งนี้ นักวางแผนการเงินอาจให้บริการวางแผนการเงินด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะให้คำแนะนำโดยพิจารณาสถานะทางการเงินในภาพรวมของลูกค้า ทำให้นักวางแผนการเงินแตกต่างจากที่ปรึกษาทางการเงินทั่วไปอาจมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเงินเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
 
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และศูนย์อบรม ThaiPFA
ผลิตนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาทางการเงิน AFPT ที่มีความรู้ ความสามารถ และยึดมั่นในจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด ให้บริการวางแผนการเงินโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตราฐานสากล ได้แก่ ผ่านการอบรมและการสอบ มีประสบการณ์การทำงาน และปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพวางแผนการเงิน รวมทั้งมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความรู้ที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์
 
นักวางแผนการเงิน CFP
นักวางแผนการเงิน CFP มีหน้าที่ให้คำแนะนำและวางแผนการเงินที่ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ การวางแผนบริหารกระแสเงินสด การวางแผนการลงทุน การวางแผนประกันชีวิต การวางแผนเพื่อการเกษียณ และการวางแผนภาษีและมรดก รวมทั้งการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมาย
 
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT 
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT  มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเฉพาะด้านการวางแผนการลงทุน หรือด้านการวางแผนประกันชีวิตและการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
   

ข้อมูลที่นักวางแผนการเงิน CFP พึงเปิดเผยให้ลูกค้าทราบ

1.  หน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของนักวางแผนการเงิน CFP

  •           บทบาทของนักวางแผนการเงิน CFP 

  •                -  วิเคราะห์สถานะทางการเงินของลูกค้า

  •                -  จัดทำแผนการเงินที่ช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายและความต้องการตามลำดับความสำคัญ

  •                -  ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับเป้าหมายและสถานะทางการเงินของลูกค้า

  •           บทบาทของลูกค้า

  •                -  ให้ข้อมูลเป้าหมายและความต้องการ

  •                -  เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของตนเองและครอบครัว

  •                -  ปฏิบัติตามคำแนะนำ

  •                -  แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีนัยสำคัญโดยทันทีและเต็มใจที่จะดำเนินการตามแผนการเงินที่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

2.  ข้อมูลคุณสมบัติของนักวางแผนการเงิน CFP 

  •                 -  คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP  บัตรประจำตัวนักวางแผนการเงิน CFP 

  •                 -  คุณวุฒิวิชาชีพอื่นและใบอนุญาตที่นักวางแผนการเงิน CFP  หรือบริษัทนายจ้างได้รับ

  •                 -  ประสบการณ์การทำงานและความเชี่ยวชาญ

3.  ข้อมูลติดต่อของนักวางแผนการเงิน CFP  และบริษัทนายจ้าง

4.  รายละเอียดและรูปแบบค่าตอบแทน และผลประโยชน์ที่นักวางแผนการเงิน CFP  ได้รับ

5.  หากนักวางแผนการเงิน CFP  จำเป็นต้องนำข้อมูลของลูกค้าไปปรึกษากับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น นักวางแผนการเงิน CFP  จะต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบ และต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อน

6.  ข้อจำกัดของนักวางแผนการเงิน CFP  ในการให้คำแนะนำหรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การลงทุน หรือประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลต่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

7.  รายละเอียดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างลูกค้ากับนักวางแผนการเงิน CFP บริษัทนายจ้าง หน่วยงานอื่น หรือบุคคลอื่น เช่น การมีส่วนได้เสียของนักวางแผนการเงิน CFP  ในการแนะนำสินค้าและบริการทางการเงินของบริษัทซึ่งนักวางแผนการเงิน CFP  เป็นพนักงานหรือผู้ถือหุ้น เป็นต้น

 

6 ขั้นตอนการวางแผนการเงิน

กระบวนการวางแผนการเงินประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ซึ่งกำหนดแผนการดำเนินการสำหรับนักวางแผนการเงินและลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้คุณได้สำรวจตนเองกำหนดเป้าหมาย และทราบถึงสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ
  1. การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและกำหนดขอบเขตข้อผูกพัน
นักวางแผนการเงินจะต้องอธิบายให้ทุกคนทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน สอบถามเป้าหมายและความต้องการของคุณ รวมทั้งจัดลำดับเป้าหมายและความต้องการดังกล่าวและประเมินว่านักวางแผนการเงินสามารถช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายและความต้องการได้หรือไม่
 
  1. การรวบรวมข้อมูลของลูกค้า
นักวางแผนการเงินจะสอบถามและต้องได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอผ่านการสัมภาษณ์และขอเอกสารเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของคุณ ได้แก่ รายรับ รายจ่าย สินทรัพย์และหนี้สิน และเป้าหมายและความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของคุณ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนการเงิน
 
  1. การวิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงินของลูกค้า
นักวางแผนการเงินจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลสถานะทางการเงินในปัจจุบันของคุณ ทั้งในด้านงบดุลส่วนบุคคล อัตราส่วนทางการเงิน (เงินออม/รายได้ ค่าใช้/รายได้ หนี้/ได้) งบกระแสเงินสด การทำประกันชีวิต พอร์ตการลงทุนและภาระภาษี เพื่อประเมินความสามารถในการบรรลุเป้าหมายและความต้องการตามลำดับความสำคัญ
 
  1. การจัดทำและนำเสนอแผนการเงิน
นักวางแผนการเงินจะต้องจัดทำและนำเสนอแผนการเงิน โดยเสนอทางเลือกในการลงทุน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความต้องการของคุณ
 
  1. การนำแผนการเงินไปปฏิบัติ
นักวางแผนการเงินจะต้องหารือแผนปฏิบัติการร่วมกับคุณเพื่อดำเนินการตามคำแนะนำในแผนการเงิน ซึ่งคุณอาจให้ความเห็นชอบหรือปฏิเสธคำแนะนำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ทั้งนี้ นักวางแผนการเงินอาจใช้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เช่น นักบัญชี เป็นต้น
  1. การทบทวนและปรับแผนการเงินตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากสมสติฐานทางการเงินและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น นักวางแผนการเงินจะต้องติดตามและทบทวนความเหมาะสมของคำแนะนำ และคุณจะต้องแจ้งให้นักวางแผนการเงินทราบการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานทางการเงินและสถานการณ์ส่วนตัวที่มีนัยสำคัญโดยทันที เพื่อใช้ในการปรับแผนปฏิบัติการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
 

เครื่องหมายรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP

เครื่องหมายรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ได้แก่ CFP CERTIFIED FINANCIAL PALNNER และ CFP ที่ใช้ภายนอกประสหรัฐอเมริกาเป็นลิขสิทธิ์ของ Financial Planning Standards Board Ltd. (FPSB) สมาคมนักวางแผนการเงินไทยเป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการโครงสร้างรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ในประเทศไทยตามข้อตกลงกับ FPSB บุคคลที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ที่สมาคมฯ กำหนดเท่านั้น จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าว
 

ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
 



ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบ สู่เส้นทางคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP มืออาชีพมาตรฐานสากล


Thai Professional Finance Academy (ThaiPFA)

Website: www.thaipfa.co.th  , www.thaipfaonline.com , www.allaboutfin.com
Social network: www.facebook.com/thaipfa
LINE: @thaipfa
Mobile: 086-666-0090 , 087-063-3306 ,082-701-7077

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA