สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
วางแผนการเงินอย่างไร ให้มั่งคั่งและมั่นคง | มารวยด้วยกัน กับ การเงินวิถีพุทธ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
 


ถ้าใครมีได้อ่านหนังสือ “เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (Buddhist Economics)” ที่เขียนโดยพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จะเห็นว่ามีใจความสำคัญที่น่าสนใจหลายเรื่องๆที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางการเงินสำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆได้ ก็เลยคิดว่าวันนี้เราน่าจะมาพูดคุยกันในเรื่องเงินๆทองๆ ในมุมมองของคนที่นับถือพุทธศาสนากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดดังกล่าวนี้จะนำไปปฏิบัติได้เฉพาะชาวพุทธนะครับ เพราะหลักการที่ว่านี้ผมคิดว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน พระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้นเป็นเศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือก็คือหลักเศรษฐศาสตร์แห่งความ “พอดี” นั่นเอง

ถ้าเราสังเกตคำว่า “พอดี” จะเห็นได้ว่าประกอบด้วยคำสองคำคือ คำว่า “พอ” และคำว่า “ดี” “พอ” ในที่นี้หมายถึงพึงพอใจ พอกับความต้องการของตนเอง
ในขณะที่คำว่า “ดี” อาจกล่าวได้ว่าก็คือความดีงาม จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรมนั่นเอง หลักการนี้จริงๆแล้ว เราสามารถนำไปใช้ได้กับการดำเนินชีวิตในทุกๆด้าน ไม่จำกัดเฉพาะในเรื่องของเศรษฐศาสตร์หรือการเงินเท่านั้นหรอกนะครับ เพราะว่าถ้าหากทุกๆการกระทำของเรานอกจากจะตอบสนองต่อความต้องการของตนเองอย่างเพียงพอ และยังอยู่ในศีลธรรมอันดี นั่นก็หมายความว่าเราก็จะสามารถดำเนินชีวิตโดยสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับทั้งตนเองและสังคมรอบข้าง การดำเนินชีวิตที่สร้างความสุขให้กับตนเองและสอดคล้องกับการดำเนินไปของสังคมอย่างสงบสุข นี่จึงย่อมเป็นความสุขที่เที่ยงแท้และยั่งยืน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเมืองอาฬวี เพื่อโปรดคนเข็ญใจคนหนึ่ง โดยก่อนที่จะแสดงธรรม พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกให้จัดหาอาหารมาให้คนเข็ญใจดังกล่าวกินให้อิ่มเสียก่อน แล้วพระองค์จึงค่อยแสดงธรรม และคนเข็ญใจดังกล่าวก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธองค์ตรัสอธิบายความว่า ความหิวเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด ถ้าคนยังท้องหิวอยู่ แสดงธรรมอย่างไร เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ แนวคิดของพระพุทธองค์ตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ถูกตอกย้ำด้วยทฤษฎีของอับราฮัม มาสโลว์ซึ่งแบ่งลำดับความต้องการของมนุษย์ไว้ 5 ขั้น เริ่มต้นตั้งแต่ความต้องการทางกาย ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการความรัก ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง และความต้องการในการเข้าใจและรู้จักตนเอง มาสโลว์กล่าวว่าความต้องการทั้ง 5 ขั้นนั้นจะต้องได้รับการตอบสนองอย่างเป็นลำดับขั้น โดยไม่มีการข้ามขั้นตอน ถ้าหากความต้องการทางกายในเรื่องของปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีพยังไม่ได้รับการยอมรับ มนุษย์ก็จะยังไม่ต้องการได้รับการตอบสนองความต้องการในลำดับต่อไป
จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนาพยายามจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์และสังคม ไม่ได้ต้องการให้มนุษย์ทรมานตนเองหรือเบียดเบียนตนเอง แต่ก็ไม่ได้ต้องการให้คำนึงถึงแต่ตนเองโดยไม่คำนึงถึงสังคมส่วนรวม หลักการสำคัญก็คือว่า ทุกคนจะต้องรู้จักวิธีการบริหารเงินทองให้เพียงพอกับการใช้จ่ายที่จำเป็น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ตกเป็นทาสของเงินที่พร้อมจะทำทุกอย่างไม่ว่าถูกหรือผิดเพื่อให้ได้เงินทองมา อย่าลืมนะครับว่า ถึงแม้เงินทองจะไม่ใช่พระเจ้า แต่มนุษย์ปุถุชนคนเดินดินลูกพระเจ้าอย่างคุณและผมก็ยังต้องใช้เงินทองในการดำรงชีพ การวางแผนและจัดการเรื่องเงินๆทองๆในมุมมองของชาวพุทธอย่างผม จึงต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ

1. ไม่เบียดเบียนตนเอง การวางแผนและการจัดการทางการเงินต้องเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของแต่ละบุคคลให้เพียงพอ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการหาเงินให้เพียงพอ ไม่ขี้เกียจจนส่งผลทำให้มีเงินน้อยเกินความต้องการ แต่ก็ไม่ขยันตั้งหน้าตั้งตาหาแต่เงิน จนเป็นการเบียดเบียนสุขภาพตนเองให้เสื่อมทรุดโทรมก่อนวัยอันควร
ทุกครั้งที่จับจ่ายใช้สอย ก็ไม่สุรุ่ยสุร่ายจนทำให้เบียดเบียนความสามารถในการเลี้ยงชีพในอนาคต แต่ก็ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวจนเบียดเบียนการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นอบายมุขที่จะเบียดเบียนสุขภาพตนเอง

2.  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การดูแลเรื่องเงินๆทองๆของตนเองนอกจากจะต้องให้พอกับความต้องการของตนเอง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของศีลธรรมอันดีงามของสังคม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ความพอใจของตนเอง แต่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม
งานที่ทำหาเงินจึงต้องเป็นการเลี้ยงชีพที่ชอบที่สุจริต ไม่คดโกงคนอื่น และไม่ทำงานน้อยเกินไปจนต้องเบียดเบียนสมาชิกในครอบครัว แต่ก็ไม่ทำงานมากจนเกินไปจนละเลยหรือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว
การใช้จ่ายบางส่วนก็ควรแบ่งปันเพื่อเสริมสร้างคุณภาพของสังคมให้ดีงามน่าอยู่ยิ่งขึ้น ไม่เป็นการใช้จ่ายในทางที่ส่งผลเสียต่อสังคมรอบข้าง
เพียงแค่คุณรู้จักคำว่า “พอ” และ “ดี” เพียงเท่านั้นคุณก็สามารถรวยเงินและรวยบุญพร้อมๆกันได้แล้วครับ
 

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA