สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
Next normal วิถีปกติก้าวต่อไปของธุรกิจไทยภายใต้วีถีชีวิตปกติใหม่ New normal ท่ามกลางวิกฤต COVID
 


หลังวิกฤต COVID-19
SMEs ไทยต้องปรับตัวอย่างไรให้รอดและรุ่ง
 
จำได้ไหม วันที่ 13 มกราคม 2563 เราต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไป...ไม่เหมือนเดิม
วันดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยันพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายแรกในประเทศไทย โดยเป็นหญิงชาวจีนวัย 61 ปี ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย
ต่อมา 17 มกราคม 2563 ตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 74 ปี เป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ในประเทศไทย ตามมาด้วยผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นคนไทยรายแรก เป็นชาว จ.นครปฐม ซึ่งมีประวัติเดินทางไปเที่ยวเมืองอู่ฮั่น
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
เริ่มต้นจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของ GDP นักท่องเที่ยวหดหาย ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซากะทันหัน
ต่อมาผลกระทบขยายวงไปยังภาคการอุตสาหกรรม ทำให้ห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขาดตอน การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก 
 
วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย
ก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายในประเทศที่กัดกร่อนเสถียรภาพของประเทศไทยมานานว่าทศวรรษ จากความไม่แน่นอนทางทางการเมือง และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อมีวิกฤต COVID-19 เข้ามาซ้ำเติมก็ยิ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการทั้ง SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายขาดรายได้ สภาพคล่องไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปขาดรายได้ ถูกเลิกจ้างงานจำนวนมาก
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบกับคนไทยทุกภาคส่วน ทำให้ทุกวันนี้คนไทยบางกลุ่มยังคงมีงานทำ มีเงิน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีงานทำ มีเงินใช้ได้อีกกี่สัปดาห์ อีกกี่เดือน ท่ามกลางการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่คนไทยบางกลุ่มวันนี้ ถึงแม้จะยังคงมีงานทำ แต่อาจไม่มีเงิน เพราะธุรกิจขาดรายได้ ทำให้เกิดผลกระทบ พนักงานต้อง Leave without pay
และคนไทยบางกลุ่มวันนี้ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน วิกฤตจากไวรัสร้ายและวิกฤตทางการเมืองกำลังซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ และอาจลุกลามไปสู่วิกฤตทางสังคม
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เริ่มขยายวงกว้างไปทั่วโลกจนเป็นที่รู้จักกันในชื่อของวิกฤต COVID-19 นำมาซึ่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และรูปแบบการดำรงชีวิตของทุกคนที่ต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จนอาจทำให้กลายเป็นวิถีชีวิตปกติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งหลายคนเรียกกันว่า วิถีปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal อันส่งผลกระทบถึงวิถีธุรกิจในยุคใหม่ หรือ Next Normal
Next Normal คือการที่ผู้คนและสังคมมีวิถีชีวิตที่ผสานไปกับเครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะด้านธุรกิจ พฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนไป ธุรกิจขนาดใหญ่ย่อตัวลง ขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นเติบโตมากขึ้น มีการแข่งขันสูงขึ้น
 
Next Normal กับ 6 วิถีปกติใหม่ในการใช้ชีวิต
ธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับวิถีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ลูกจ้าง พนักงาน และบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนได้เสีย ที่วันนี้กำลังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
1. All In Home
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บุคคลทั่วไปกังวลใจกับการออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน ทั้งกิจกรรมการงานและกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ
คนส่วนใหญ่จึงใช้เวลาเกือบทั้งวันทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ที่บ้าน หลายคนเริ่มรู้สึกถึงความอบอุ่น ความสะดวกสบาย และเวลาที่มากขึ้นกับการทำกิจกรรมทั้งหมดในบ้าน
2. Online Identity
เนื่องจากบุคคลทั่วไปในปัจจุบันมีการพบเจอบุคคลอื่นๆ น้อยลง ทั้งจากวิถีการทำงานและความกังวลใจเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ทำให้คนจำนวนมากติดต่อสื่อสารกันผ่านออนไลน์
แต่ละคนจึงให้ความสำคัญกับสถานะบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น มีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับตัวตนของบุคคลผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น การสร้าง Background เสมือนจริงในการประชุมเพื่อสะท้อนตัวตนของตนเอง การโพสต์หรือการแชร์กิจกรรมต่างๆ ที่ทำในบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
3. Online Shopping
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บุคคลทั่วไปเริ่มคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งทำให้ลดความเสี่ยงจากการออกไปพบปะผู้คน ประหยัดเวลา และยังอาจประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์จึงยังคงเติบโตต่อไปภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ รวมทั้งบุคคลทั่วไปยังคุ้นเคยกับการหาข้อมูลสินค้า/บริการ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่ทำได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น บุคคลทั่วไปจึงเรียกร้องสินค้าที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นและมีราคาลดลง
4. Self Service
จากการที่บุคคลทั่วไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้นเกือบจะตลอดทั้งวัน รวมทั้งความกังวลใจกับสุขอนามัยของบุคคลอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้แต่ละบุคคลคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การหาข้อมูลสินค้า/บริการ การสั่งซื้อออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสินค้า/บริการด้วยตนเอง
5. Health Concern
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุให้ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพมากขึ้น บุคคลทั่วไปเริ่มคุ้นชินกับการต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และการรักษาสุขอนามัยตลอดเวลา จึงอาจตั้งคำถามเชิงสุขอนามัยต่อสินค้า/บริการที่ใช้มากยิ่งขึ้น
6. Multiple Income Streams
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายคนถูกเลิกจ้าง หรือต้องหยุดงาน หรือทำงานที่บ้าน ทำให้รายได้ลดลง จึงต้องหาอาชีพเสริมเพื่อแหล่งรายได้ทางอื่นๆ ทั้งนี้ อาชีพเสริมต่างๆ อาจสร้างรายได้ให้กับบุคคลมากกว่า หรือใกล้เคียงกับงานประจำ
ทำให้ภายใต้วิถีปกติใหม่ บุคคลจำนวนมากจึงต้องการมีรายได้เสริมต่อไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ต้องการมีรายได้และมีเวลามากขึ้น 
 
Next Normal กับ 6 วิถีการดำเนินธุรกิจ  
ต่อไปนี้ภาคธุรกิจหรือผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้บริโภค และพนักงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
1. Work from home
มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ เริ่มมีการกำหนดมาตรการในการอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน
ผลปรากฏว่าในหลายกรณีส่งผลทำให้ต้นทุนลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีก็ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงานหรือประชุมที่บ้าน
นอกจากนั้นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยังไม่ได้หมดลงโดยสิ้นเชิง มาตรการในการทำงานที่บ้านจึงอาจกลายเป็นวิถีปกติใหม่ของการดำเนินธุรกิจของหลายๆ องค์กร
ธุรกิจจึงต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร และเพิ่มความเอาจริงเอาจังในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
2. Online Channel
เมื่อผู้บริโภคได้ลองสั่งซื้อสินค้าหรือใช้บริการผ่านทางออนไลน์อันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ที่หลายคนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และต่อเนื่องมาจนปัจจุบันจากความกังวลใจในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 บริษัทห้างร้านต่างๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเพิ่มช่องทางในการซื้อขายและการติดต่อผ่านออนไลน์หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
บางแห่งอาจใช้เป็นเพียงช่องทางในการติดต่อสอบถาม เช่น การตอบกลับการสนทนาอัตโนมัติผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Chatbot บางแห่งอาจใช้เป็นช่องทางในการขายสินค้า/บริการผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น การ Live Streaming ขายของออนไลน์ รวมไปถึงการชำระค่าสินค้า/บริการออนไลน์ เช่น E-Payment
แต่บางธุรกิจอาจมีการพัฒนาไปจนถึงขั้นการสร้างประสบการณ์ในการใช้สินค้า/บริการออนไลน์ เช่น การท่องเที่ยวเสมือนจริงออนไลน์ การชมคอนเสิร์ตออนไลน์ การเรียนออนไลน์ เป็นต้น ธุรกิจที่ต้องการอยู่รอดจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวเพิ่มช่องทางในการขายของออนไลน์มากขึ้น
การเพิ่มช่องทางออนไลน์จะส่งผลทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างมหาศาล และยังเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมด้วยการส่งข่าวสารกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าเดิม และยังอาจเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเดิมมีการตัดสินใจซื้อสินค้า/บริการเพิ่มเติมในอนาคต
3. Delivery Option
เมื่อผู้บริโภคคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ บริษัทห้างร้านต่างๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงบริการต่างๆ ในการขนส่งสินค้า/บริการไปยังผู้บริโภค อาจต้องมีโปรโมชั่นในการนำส่งสินค้า/บริการไปยังบ้านพักอาศัยหรือที่ทำงานของลูกค้า มีโปรโมชั่นส่งฟรี หรืออาจมีโปรโมชั่นให้กำหนดหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่และเวลาในการขนส่งได้อีกด้วย
ทางรอดของธุรกิจในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นต้องบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายและการจัดส่งสินค้าให้มีความรวดเร็วมากขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้นแต่มีต้นทุนที่ต่ำลง
4. Risk Management
ธุรกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กจะต้องมีแผนงานในการบริหารความเสี่ยงอย่างชัดเจน เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ แนวทางในการลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง รวมทั้งแนวทางที่จะบรรเทาความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
เช่น ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบ หรือพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ หากไม่มีแผนงานในการบริหารความเสี่ยงในช่วงวิกฤต COVID-19 ก็อาจจะไม่สามารถนำพาองค์กรให้อยู่รอดมาได้จนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในอนาคตไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติอะไรขึ้นอีก แต่ธุรกิจจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ขึ้นอีกจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
การสำรองสภาพคล่องหรือการมีเงินทุนสำรองเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคตจึงเป็นแนวทางที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาองค์กรให้อยู่รอดได้ในวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
5. Data Analytics
ธุรกิจที่ต้องการรอดและรุ่งต้องรู้จักนำข้อมูลจากธุรกิจเองหรือจากผู้ให้บริการต่างๆ เช่น Google Analytics, Facebook Insights มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาสินค้า/บริการ และวางแผนการตลาด ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในวิถีปกติใหม่
ทั้งนี้ ธุรกิจต้องทำการสำรวจข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าลูกค้ามีความพึงพอใจในสินค้า/บริการหรือไม่ ลูกค้ามีปัญหาอะไรที่ธุรกิจสามารถนำเสนอหรือพัฒนาสินค้า/บริการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ติดตามแนวโน้มตลาดว่ามีทิศทางอย่างไรเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาสินค้า/บริการให้เป็นที่ต้องการและมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งต่อไป
รวมทั้งต้องมีการวิเคราะห์ว่าลูกค้ามีลักษณะและพฤติกรรมในโลกออนไลน์อย่างไร ควรจะต้องใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ใดที่จะเหมาะสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการแต่ละผลิตภัณฑ์
6. Ready to reform
ภายใต้ New Normal ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภคและวิถีการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิงและรวดเร็ว ส่งผลทำให้ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตให้ทันท่วงทีตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและทันต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรม
 
เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่
การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ถ้าหากธุรกิจไม่ต้องการถูกกระแสเทคโนโลยีทำลายล้างองค์กร ก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา
ธุรกิจที่พัฒนาตนเองให้ทันกับแพลตฟอร์มต่างๆ ย่อมสามารถสร้างโอกาสเปิดรับลูกค้าใหม่จำนวนมากมายมหาศาล
เช่น เกษตรกรอาจปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างแบรนด์ ใช้ช่องทางการชำระค่าพืชผลทางการเกษตรผ่านออนไลน์ และใช้บริการระบบขนส่งไปยังผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ตัดกลไกพ่อค้าคนกลาง สามารถเข้าถึงลูกค้ามหาศาล และสามารถเพิ่มราคาขายได้สูงมากขึ้น
ธุรกิจที่เห็นความสำคัญของนวัตกรรมและปรับองค์กรให้เท่าทันกับเทคโนโลยี มีการ Transform องค์กรให้รองรับระบบ Digital อย่างจริงจังจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในภาวะ New Normal
 
อะไรคือทางรอด?
ทางรอดของธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองเป็นดาวรุ่งภายใต้วิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ของทั้งบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจเอง ต้องพัฒนารูปแบบการดำเนินงานโดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การวิจัยและพัฒนาสร้างนวัดกรรมให้กับสินค้า/บริการ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ในแพลตฟอร์มใหม่ๆ การขายสินค้าและรับชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ การจัดจำหน่ายและขนส่งให้ตรงตามความต้องการ รวมทั้งการให้บริการหลังการขายและการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า
ธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ หรือที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) ผ่านระบบ 5G เพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารต่างๆ ในยุคของสังคมดิจิทัลเต็มตัว ทั้งนี้เทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบันกำลังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
 
ใช้ประโยชน์จาก 5G
เทคโนโลยี 5G สามารถรองรับความต้องการในการรับส่งข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทำให้การทำงานจากที่บ้านของพนักงานสามารถเรียกดูข้อมูลและนำส่งงานต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาที่ออฟฟิศอีกต่อไป
รวมทั้งยังสามารถสั่งการเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อหน้าเครื่องจักรอุปกรณ์ดังกล่าว หรือไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อสายแต่อย่างใด แต่สามารถสั่งการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจากบ้านได้อย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยี 5G ยังช่วยทำให้ธุรกิจสามารถนำเสนอข้อมูลสินค้า/บริการได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจหรือแชร์ประสบการณ์การใช้สินค้า/บริการให้กับลูกค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เสมือนจริง ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งยังเข้ามามีบทบาทในช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยได้รับประสบการณ์เสมือนได้เลือกและลองสินค้าที่ร้านค้าโดยตรง
นอกจากนั้นแล้วยังช่วยทำให้สามารถชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยเชื่อมโยงการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการในการขนส่งสินค้า/บริการได้อย่างรวดเร็ว และติดตามการขนส่งสินค้า/บริการได้อย่างเรียลไทม์
การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากซึ่งอาจต้องมีการเชื่อมโยงอุปกรณ์ IoT จำนวนมากมายมหาศาล เพื่อรองรับการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง เพื่อสร้างการประมวลผลที่การวิเคราะห์เชิงลึกอย่างรวดเร็วให้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างระบบให้คล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำ
 เช่น การโต้ตอบเหมือนพูดคุยกับมนุษย์โดยตรง ก็มีความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) ผ่านเทคโนโลยี 5G เข้ามาร่วมด้วย
 
บทสรุป
ทางรอดของ SMEs ไทยที่ต้องการก้าวกระโดดไปเป็นดาวรุ่งของแต่ละอุตสาหกรรมจึงต้องอาศัยการเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและสังคม และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตอย่างรวดเร็วตลอดเวลา .
นี่ละ...วิถีปกติรูปแบบใหม่ของธุรกิจและชีวิต
 
Next normal วิถีปกติก้าวต่อไปของธุรกิจไทยภายใต้วีถีชีวิตปกติใหม่ New normal ท่ามกลางวิกฤต COVID ThaiPFA

 

ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบ สู่เส้นทางคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP มืออาชีพมาตรฐานสากล

 


Thai Professional Finance Academy (ThaiPFA)

ติดต่อ


      086-666-0090 , 082-701-7077 , 087-063-3306 
 

ขอบคุณทุกความไว้วางใจ ที่มีให้ ThaiPFA


#นักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลกับThaiPFA  #เส้นทางสู่วิชาชีพนักวางแผนการเงินCFP มาตรฐานสากลโดยThaiPFA #ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืน 
E-mail: thaipfa@gmail.com
Website: www.thaipfa.co.th  , www.thaipfaonline.com , www.allaboutfin.com
Social network: www.facebook.com/thaipfa
LINE: @thaipfa
Mobile: 086-666-0090 , 087-063-3306 ,082-701-7077

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA