สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
3 Steps สู่การลงทุนอย่างมีคุณค่า
 
เห็นชื่อบทความฉบับนี้ หลายคนอาจนึกถึงนางงามนุ่งน้อยห่มน้อยที่รักเด็ก แต่จริงๆแล้วเรากำลังจะมาพูดถึงแนวทางในการลงทุนแบบ VI ที่หลายคนมีต้นแบบมาจากปรมาจารย์ผู้อาวุโสกับผมสีดอกเลาที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสุขุมท่ามกลางเงินลงทุนที่เพิ่มมูลค่าอย่างมากมายมหาศาลอเนกอนันต์อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์
หลายคนอาจอยากรู้ว่าจริงๆแล้ว ขั้นตอนของการลงทุนตามสไตล์ของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor (VI) เป็นอย่างไรกันแน่ บทความในตอนนี้ผมเลยทำการสรุปแนวทางและขั้นตอนของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ VI ง่ายๆเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้ครับ
  1. ลงทุนในหุ้นสามัญที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง นักลงทุนเน้นคุณค่าสไตล์ VI จะเลือกลงทุนในหุ้นสามัญ(หรือที่มักเรียกสั้นว่า หุ้น) ที่มีคุณค่า โดยใช้แนวคิดในการพิจารณาคุณค่าของหุ้นราวกับว่า นักลงทุนจะไปร่วมลงทุนร่วมหุ้นดำเนินกิจการนั้นๆแบบเป็นเจ้าของจริงๆ ทั้งนี้คุณค่าหรือมูลค่าของหุ้นที่แท้จริงนั้นย่อมมีที่มาจากยอดขายในอนาคตซึ่งจะสามารถสร้างกระแสเงินสดรับให้กับธุรกิจได้จริง และจะนำมาซึ่งส่วนแบ่งของกำไรหรือเงินปันผลให้กับนักลงทุน นั่นจึงเป็นที่มาของคุณค่าหรือมูลค่าของหุ้นที่แท้จริง โดยจะสะท้อนต่อไปยังราคาตลาดของหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นในที่สุด
การวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพื่อนำมาตัดสินใจในการลงทุนมักอ้างอิงแนวคิดการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน หรือที่บางคนเรียกว่าเป็นการวิเคราะห์จากบนลงล่างแบบ 3 ขั้นตอน โดยเริ่มต้นขั้นตอนแรกจากการวิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจและตัวแปรมหภาคต่างๆ แล้วขั้นตอนต่อมาจึงพิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อภาวะอุตสาหกรรม ขั้นตอนสุดท้ายค่อยทำการประเมินผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจากข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณต่างๆ
ทั้งนี้นักลงทุนอาจไม่ต้องทำการวิเคราะห์มูลค่าที่แท้จริงด้วยตนเอง เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆจะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อประเมินมูลค่าที่แท้จริงให้ แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนแบบ VI ควรมีความรู้เบื้องต้นในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบ้างเพื่อจะได้สามารถประเมินแนวทางในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ประเมินมูลค่าหุ้นที่สนใจลงทุนว่า มีการกำหนดสมมติฐานที่ใกล้เคียงความเป็นจริงหรือไม่ มูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณออกมาได้มีความสมเหตุสมผลหรือไม่
หุ้นที่นักลงทุนแบบ VI จะเลือกลงทุนจึงต้องเป็นกิจการที่มีความมั่นคง มีสถานะการเงินที่ดี มีความสามารถในการทำกำไรในอนาคต และมีผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหุ้นของกิจการที่ดีบางบริษัทอาจมีราคาที่สูงจนเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง นักลงทุนสไตล์ VI จึงตัดสินใจลงทุนโดยทำการคัดเลือกหุ้นของกิจการที่แข็งแกร่ง และต้องมีราคาซื้อขายในตลาดที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถือเป็นปรมาจารย์ในการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ได้ให้คำแนะนำในการคัดเลือกหุ้นคุณค่าโดยกำหนดว่าราคาซื้อขายนั้นควรต่ำกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าทางบัญชี
  1. ลงทุนสวนกระแสไม่แห่ตามตลาด เนื่องจากการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะคัดเลือกหุ้นที่กิจการมีผลการดำเนินงานในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง นักลงทุนแบบ VI  จึงมักไม่เน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกระแสข่าว หรือหุ้นที่นักลงทุนจำนวนมากในตลาดให้ความนิยม เนื่องจากหุ้นเหล่านั้นมักมีราคาตลาดที่สูงเต็มมูลค่า หรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนแบบ VI อาจให้ความสนใจกับหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดที่มีความผันผวนมากๆซึ่งส่งผลทำให้นักลงทุนจำนวนมากแตกตื่นพากันเทขายหุ้น จนทำให้ราคาหุ้นของกิจการบางแห่งที่มีผลการดำเนินงานที่ดีปรับตัวลดลงต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง บางครั้งนักลงทุนสไตล์ VI จึงมักมีลักษณะการลงทุนที่สวนทางกับตลาดโดยรวม (Contrarian)
  2. ลงทุนแล้วรอ รอ และรอ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอาจต้องใจเย็นราวกับนักตกปลาที่ต้องรอให้ปลาตัวใหญ่มาติดเบ็ด บางครั้งนักลงทุนแบบ VI อาจต้องรอให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าใกล้หรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงเป็นปีๆ เนื่องจากจะต้องรอให้นักลงทุนทั่วๆไปเห็นแจ้งประจักษ์จริงถึงผลดำเนินงานที่แข็งแกร่งของกิจการ อันจะนำไปสู่ยอดขาย ผลกำไร และเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในที่สุด และเมื่อวันนั้นมาถึงเมื่อนักลงทุนทั่วไปมีข้อมูลที่ครบถ้วนก็จะหันมาให้ความสนใจกับหุ้นของกิจการดังกล่าว ส่งผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และนำมาสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงและคุ้มค่ากับการรอคอย


ศูนย์อบรม ThaiPFA
www.thaipfa.co.th

ThaiPFA NEWS

เรื่องราวดีๆ ที่อยากบอกเล่า พร้อมข่าวสารและสาระดีๆ ทางการเงิน

ผลงานที่ผ่านมา
portfolio
  • In-House Training, Public Training และบริษัทอื่นๆ...

ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม

หลากหลายความประทับใจ และ คำแนะนำให้อบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP
และหลักสูตรการเงินอื่นๆ กับ ThaiPFA